วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประวัติไก่ชน

 

ประวัติไก่ชน








ไก่ชน มีประวัติเล่าขานกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ( 356 – 323 ปี ก่อนคริสตกาล ) ซึ่งเป็นจอมจักรพรรดิของกรีก ได้กรีธาทัพแผ่อิทธิพลขยายอาณาจักรเข้ามายังประเทศอินเดีย มีเรื่องเล่ากันว่าแม่ทัพนายกองได้เห็น การชนไก่ ที่อินเดีย จึงได้นำ ไก่ชน ไปขยายพันธุ์ ณ เมืองอเล็กซานเดรีย ซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หลังจากนั้นได้นำไก่ที่ขยายพันธุ์ได้ไปฝึกให้มีชั้นเชิงการต่อสู้แบบโรมัน เพื่อนำไปต่อสู้ในสนามโคลีเซียม เมื่ออังกฤษปกครองอินเดียได้นำ ไก่ชน จากอินเดียเข้าไปเผยแพร่ในอังกฤษ โดยยอมรับว่า กีฬาไก่ชน เป็นเกมกีฬาที่ควรได้รับความนิยมจากบุคคลชั้นสูงเช่นเดียวกับการแข่งม้าและฟันดาบ นอกจากนี้ กีฬาชนไก่ ยังได้เผยแพร่เข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ไก่ชนในเอเซีย กีฬา ไก่ชน หรือ ตีไก่ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเซีย เช่น ไทย พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย การชนไก่ ในแถบเอเซียมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และเชื่อว่า ไก่ชน มีพัฒนาการมาจาก ไก่ป่า ซึ่งมนุษย์นำมาเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารประจำบ้าน เมื่อ ไก่ป่า มาอยู่กับคนนานเข้า ก็ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นิสัยประจำตัวของไก่คือหวงถิ่นที่อยู่ ถ้ามีไก่ตัวอื่นๆ ข้ามถิ่นเข้ามาก็จะออกปกป้องที่อยู่อาศัย หรือเมื่อมีการแย่งผสมพันธุ์กับตัวเมีย ไก่ตัวผู้ก็จะตีกัน ซึ่งทำให้เกิดการถือหางกันระหว่างเจ้าของไก่ และด้วยนิสัยของนักพนันจึงทำให้มีการแข่งขันกัน การพัฒนาสายพันธุ์ของ ไก่ป่า จึงมีวิวัฒนาการเรื่อยมา

ไก่ชนในเมืองไทย ในอดีต พันธุ์ ไก่ชน ไทยเป็น “ มรดกของไทย “ มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือพันธุ์ “ ประดู่หางดำ ” และ “ เหลืองหางขาว ” ในสมัยกรุงสุโขทัย ไก่ชนประดู่หางดำพันธุ์แสมดำ ได้ชื่อว่า “ ไก่พ่อขุน ” เนื่องจากว่าเป็นไก่ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรด สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงนำ “ ไก่เหลืองหางขาว ” จากบ้านกร่าง เมืองพิษณุโลก ไปชนชนะไก่ของพระมหาอุปราชาที่กรุงหงสาวดี ไก่พันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงกัน ตามซุ้มที่เลี้ยง ไก่ชน มักจะมี ไก่ชนเหลืองหางขาว เลี้ยงไว้เพื่อเป็นไก่นำโชค และนิยมเรียกชื่อว่า “ ไก่เจ้าเลี้ยง ”

ต้นตระกูลของไก่ ไก่ เป็นสัตว์ปีกประเภทนก ต้นตระกูลมาจากสัตว์เลื้อยคลาน ดังปรากฏพบหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ของนกชนิดแรกในโลก ที่แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมัน เมื่อปี ค.ศ. 1861 ซากดังกล่าวมีอายุประมาณ 130 ล้านปี มีลักษณะกึ่งนกกึ่งสัตว์เลื้อยคลาน คือที่ปากมีฟัน มีเล็บยื่นออกมาจากปลายปีกและมีกระดูกหางยาว ซึ่งเป็นลักษณะของสัตว์เลื้อยคลาน ในขณะเดียวกันก็มีขนปกคลุมลำตัวเช่นเดียวกับนก ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เรียกซากนี้ว่า “ อาร์คีออพเทอริกซ์ ”จาก “ อาร์คีออพเทอริกซ์ ” ได้พัฒนาการสืบทอดต่อกันมาจนกระทั่งกลายเป็นนกที่มีขนาดของรูปร่าง สี และอุปนิสัยที่แตกต่างกันออกไปกว่า 9,000 ชนิด สามารถจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 27 อันดับ และ 1 ใน 27 อันดับ คือ Galliformes ซึ่งเป็นอันดับของ ไก่ป่า ไก่งวง ไก่ต๊อก ไก่ฟ้า ฯลฯ และถ้าแยก ไก่ เหล่านี้ออกเป็นวงศ์ ไก่ป่าและไก่ฟ้าจัดอยู่ในวงศ์ Phasianidae ไก่ต็อกอยู่ในวงศ์ Numididdae และไก่งวงอยู่ในวงศ์ Meleagrididae


เนื่องจากประเทศไทยอยู่ใกล้กับอินเดีย จึงทำให้ไทยได้รับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนศิลปวิทยาการต่างๆมาจากอินเดียหลายอย่าง อาจจะเป็นไปได้ที่ไทยได้นำ ไก่ชน จากอินเดียมาเพาะเลี้ยง และคงจะมีการนำ ไก่ชน เข้ามาก่อนที่อังกฤษจะนำ ไก่ชน ไปจากอินเดีย ทั้งนี้เนื่องจากว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงใช้ ไก่ชน ดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองมาก่อนที่อินเดียจะเสียเอกราชให้แก่อังกฤษเสียอีก แต่อย่างไรก็ตามอาจจะเป็นไปได้ที่ ไก่ชน ของไทยมีมานานก่อนแล้ว แต่ ไก่ชนพันธุ์อินเดีย คงจะเข้ามาในประเทศไทยพร้อมๆ กับศาสนาพราหมณ์และวัฒนธรรมอื่นๆ



ลักษณะไก่ชน



เรื่อง การกำหนดมาตรฐานพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช
ความเป็นมา ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช เป็นไก่ชนตามประวัติศาสตร์ที่ปรากฎอยู่ในพงศาวดารเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพำนักอยู่ในประเทศพม่า พระองค์ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลกเพื่อนำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชา เป็นไก่ที่มีลักษณะพิเศษ มีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้จึงชนชนะจนได้สมญาว่า "เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง" ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ได้ทำการค้นคว้าและทำการส่งเสริมเผยแพร่ โดยจัดทำการประกวดครั้งแรกเมื่อ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓ และในปี ๒๕๓๔ ได้จัดตั้งชมรมอนุรักษ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชขึ้นที่ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จนถึงปี ๒๕๔๔ ได้จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนพระนเรศวรขึ้นทุกอำเภอรวม ๑๒ กลุ่ม
แหล่งกำเนิด ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชเป็นไก่ชนสายพันธุ์เหลืองหางขาวและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลกจนถึงขนาดนี้ ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชนับว่าเป็นของดีของจังหวัดพิษณุโลกและเป็นสมบัติของชาติไทยที่กำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ดังนั้นเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาไก่ชนพระนเรศวรมหาราชงานดำเนินไปในทิศทางเดียวกันคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และลักษณะประจำพันธุ์ที่แน่นอน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ดังต่อไปนี้
สายพันธุ์ เหลืองหางขาว
ขนาด เพศผู้มีน้ำหนักตั้งแต่ ๓ กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ ๖๐ เซนติเมตรขึ้นไป(วัดจากใต้ปากล่างตั้งฉากถึงพื้นที่ยืน) และเพศเมียมีน้ำหนักตั้งแต่ ๒ กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ ๔๕ เซนติเมตร ขึ้นไป
ลักษณะประจำพันธุ์
เพศผู้หรือพ่อพันธุ์
๑.หัว มีขนาดเล็กคล้ายหัวนกยูง
๑.๑. กระโหลก กระโหลกอวบกลมยาว ๒ ตอน ส่วนหน้าเล็กกว่าส่วนท้าย
๑.๒. หน้า ลักษณะคล้ายหน้านกยูง หน้าต้องแดงจัด
๑.๓. ปาก รูปร่างคล้ายปากนกแก้วลักษณะแข็งแรงมั่นคงมีสีขาวอมเหลือง โคนปากใหญ่และปลายปากคม ปากบนปิดปากล่างสนิท ปากบนมีร่องน้ำลึกตั้งแต่โคนตรงรูจมูกถึงกลางปาก
๑.๔. หงอน ลักษณะหน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง ปลายหงอนกดกระหม่อมมีสีแดงจัด
๑.๕. จมูก รูจมูกกว้างและยาวฝาปิดรูจมูกมีสีขาวอมเหลือง
๑.๖. ตา มีขนาดเล็ก ตามีสีขาวอมเหลือง(ตาปลาหมอตาย) มีเส้นเหลืองแดงโดยรอบ หัวตาแหลมเป็นรูปตัววี (v) มีลักษณะเรียวและสดใส
๑.๗. หู หูทั้งสองข้างมีขนสามสี คือ สีขาว สีเหลือง สีดำ ขนหูมีมากปิดรูหูสนิทไม่มีขี้หู
๑.๘. ตุ้มหู ตุ้มหูเป็นสีแดงจัดเหมือนสีของหน้า ขนาดไม่ใหญ่และไม่ยาน
๑.๙. เหนียง ต้องไม่มี(ลักษณะคางรัดเฟ็ด)
๑.๑๐. คิ้ว โหนกคิ้วนูนเป็นเส้นโค้งบังเบ้าตา
๒. คอ คอยาว(สองวง) และใหญ่กระดูกข้อถี่
๓. ลำตัว ลำตัวกลมยาว(ทรงหงส์)จับได้ ๒ ท่อน
๓.๑. ไหล่ กระดูกซอกคอใหญ่ ไหล่กว้าง
๓.๒. อก อกกว้างใหญ่กล้ามเนื้อเต็มกระดูกหน้าอกแข็งแรงโค้งเป็นท้องเรือและยาว(ไม่คดงอ)
๓.๓. กระปุกหาง มีขนาดใหญ่ชิดกับบั้นท้าย
๓.๔. ต่อมน้ำมัน มีขนาดใหญ่๑ต่อม อยู่บนกระปุกหาง
๓.๕. ตะเกียบตูด เป็นกระดูก ๒ชิ้น ออกจากกระดูกซี่โครงคู่สุดท้ายยาวมาถึงก้นแข็งแรงหนาโค้งเข้าหากันและชิดกัน
๔. ปีก ปีกเมื่อกางออก จะเป็นกล้ามเนื้อปีกใหญ่หนาตลอดทั้งปีกเอ็นยึดกระดูกแข็งแรงปีกขึ้นหนาแน่นชิดมีความยาวเรียงติดต่อกัน จากหัวปีกถึงท้ายปีกและยาวถึงกระปุกหาง
๕. ขา ขาได้สัดส่วนกับลำตัว
๕.๑. ปั้นขา กล้ามเนื้อโคนขาใหญ่ทั้งสองข้าง เวลายืนโคนขาอยู่ห่างกัน
๕.๒. แข้ง มีลักษณะเรียวเล็กกลมสีขาวอมเหลือง
๕.๓. เดือย โคนมีขนาดใหญ่ต่ำชิดนิ้วก้อยส่วนปลายเรียวแหลมคมและงอนเล็กน้อย มีสีขาวอมเหลือง
๖. เท้า มีความสมบูรณ์ คือ นิ้วครบไม่คดงอ
๖.๑. นิ้ว มีลักษณะยาวปลายเรียวมีท้องปลิงใต้ฝ่าเท้า นิ้วกลางมีเกล็ดตั้งแต่ ๒๐ เกล็ด ขึ้นไป ส่วนนิ้วก้อยจะสั้น
๖.๒. อุ้งตีน หนังอุ้งตีนไม่ติดพื้น
๖.๓. เล็บ โคนเล็บหนาแข็งแรงปลายแหลมมีสีเหมือนแข้ง คือ ขาวอมเหลือง
๗. ขน ขนเป็นมันเงางามระยับ
๗.๑. ขนพื้น มีสีดำตลอดลำตัว
๗.๒. สร้อย มีลักษณะสร้อยประบ่าระย้าประก้น คือ สร้อยคอขึ้นหนาแน่นยาวประบ่า สร้อยหลังยาวระย้าประถึงก้นมีลักษณะเส้นละเอียดปลายแหลม ส่วนสร้อยปีกและสนับปีกก็มีสีเดียวกัน
๗.๓. ขนปีก ปีกนอก (ตั้งแต่หัวปีกถึงกลางปีก) มีไม่น้อยกว่า ๑๑ เส้น ปีกใน(ตั้งแต่กลางปีกถึงปลายปีก) มีสีดำไม่น้อยกว่า ๑๒ เส้น ปีกไช (ปีกแซมปีกนอก) มีสีขาวไม่น้อยกว่า ๒ เส้นถ้าหุบปีกจะมองเห็นสีขาวแลบออกมาตามแนวยาวของปีก ๒-๓ เส้น เมื่อกางปีกออกจะมองเห็นปีกนอกมีสีขาวเป็นจำนวนมาก
๘. หาง หางเป็นพวงและเป็นพุ่มเหมือนฟ่อนข้าว
๘.๑. หางพัด มีข้างละไม่น้อยกว่า ๗ เส้น มีสีขาวเป็นจำนวนมาก
๘.๒. หางกระรวย คือ ขนหางคู่กลางซึ่งเป็นหางเอกจะมีสีขาวปลอดทั้งเส้นมีขนรองหางกระรวยหรือหางรับไม่น้อยกว่า ๖ เส้น และมีสีขาวเป็นจำนวนมาก
๘.๓. ระย้าหลัง เป็นส่วนที่ต่อจากสร้อยหลังมีลักษณะปลายแหลมปกคลุมกระปุกหาง ขอบขนมีสีเหลืองเหมือนสร้อยหลัง
๙. หลัง หลังแผ่แบนใหญ่
๑๐. กริยาท่าทาง
๑๐.๑. ท่ายืน ยืนยืดอกหัวปีกยกท่าผงาดดังราชสีห์
๑๐.๒. ท่าเดินและวิ่ง ที่เดิน สง่าเหมือนที่ยืน เวลาเดินเมื่อยกเท้าขึ้นจะกำนิ้วทั้งหมดเมื่อย่างลงเกือบถึงพื้นดินจะแบนิ้วออกทั้งหมด เวลาวิ่งย่อขาโผตัวไปข้างหน้าเสมอ
๑๐.๓. ที่ขัน ขันเสียงใหญ่ยาวชอบกระพือปีก และตีปีกแรงเสียงดัง
๑๑. ลักษณะพิเศษ
๑๑.๑. พระเจ้าห้าองค์ คือ มีหย่อมกระ(มีขนสีขาวแซม) ๕ แห่ง ได้แก่ (๑)หัว (๒)หัวปีกทั้งสองข้าง และ (๓)ข้อขาทั้งสองข้าง
๑๑.๒. เกล็ดสำคัญ ได้แก่เกล็ดพิฆาต เช่น เสือซ่อนเล็บ เหน็บชั้นใน ไชบาดาล ผลาญศัตรู นอกจากนี้ยังมีเกล็ดกากบาท จักรนารายณ์ ฯลฯ
๑๑.๓. สร้อยคอสร้อยหลังสร้อยปีก(สนับปีก) เป็นสีเหลืองทอง เรียกว่า เหลืองประภัสสร
๑๑.๔. สร้อยสังวาลย์ เป็นสร้อยบริเวณด้านข้างลำตัวมีสีเดียวกับสร้อยคอและสร้อยหลัง
๑๑.๕. ก้านขนสร้อยและหางกระรวย มีสีขาว
๑๑.๖. บัวคว่ำ-บัวหงาย บริเวณใต้โคนหางเหนือทวารมีขนประสานกันลักษณะแหลม ที่โคนหางดูคล้ายบัวคว่ำ-บัวหงาย
ลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องของเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
๑. ข้อบกพร่องร้ายแรง
๑.๑. กระดูกอกคด
๑.๒. นิ้วหรือเท้าบิดงอ
๑.๓. ไม่มีเดือย
๑.๔. แข้งไม่ขาวอมเหลืองตลอด(แข้งมีสีดำหรือแข้งลาย)
๒. ข้อบกพร่องไม่ร้ายแรง
๒.๑. เท้าเป็นหน่อ
๒.๒. ปากไม่ขาวอมเหลืองตลอดหรือมีจุดดำที่โคนปาก
๒.๓. ในขณะหุบปีกขนปีกมีสีขาวแลบออกมาทางด้านขวางคล้ายปีกนกพิราบ
๒.๔. เดือยหักหรือตัดเดือย
๒.๕. สุขภาพไม่สมบูรณ์(เจ็บป่วยหรือมีบาดแผล)
๒.๖. ลักษณะไม่เป็นไปตามลักษณะประจำพันธุ์ข้างต้น
เพศเมียหรือแม่พันธุ์
๑. หัว มีขนาดเล็กคล้ายหัวนกยูงได้แก่กระโหลก หน้า ปาก หงอน จมูก ตา หู และคิ้วมีลักษณะคล้ายเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
๒. คอยาว ใหญ่และกระดูกถี่
๓. ลำตัว มีลำตัวยาวกลม (ทรงหงส์) ได้แก่ ไหล่ อก กระปุกหาง ต่อมน้ำมันมีลักษณะคล้ายเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ส่วนปลายของตะเกียบตูดห่างกันทำให้ไข่ดกและฟองโต
๔. ปีก ลักษณะทั่วไปคล้ายเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
๕. ขา ได้สัดส่วนกับลำตัวปั้นขาและแข้งมีลักษณะเช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
๖. เท้า มีความสมบูรณ์ทั้งนิ้ว อุ้งตีน และเล็บ
๗. ขน ขนเป็นมันเงางามขนพื้นมีสีดำตลอดลำตัวมีขนสีขาวกระ(สีขาวแซม) บริเวณหัว หัวปีก และข้อเท้า(ลักษณะพระเจ้าห้าพระองค์) ขนปีกเมื่อหุบมีสีขาวแลบออกมาตามแนวยาวของปีกไม่เกิน ๒-๓ เส้น เมื่อกางปีกจะมีสีขาวเป็นจำนวนมาก
๘. หาง มีหางพัดเป็นจำนวนมากชี้ตรงหรือตั้งขึ้นเล็กน้อยมีสีขาวแซม
๙. หลัง เช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
๑๐. กริยาท่าทาง การยืนเดินและวิ่งเช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
๑๑. ลักษณะพิเศษ มีลักษณะพระเจ้าห้าพระองค์และเกล็ดที่สำคัญเช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์ หากมีเดือยจะจะดีมากและมีสีขาวอมเหลืองด้วย
ลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องของเพศเมียหรือแม่พันธุ์
๑. มีลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องร้ายแรงเช่นเดียวกับเพศผู้หรือพ่อพันธุ์
๒. ขนปีกและขนหางมีจุดขาวมากเกินกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์
๓. สุขภาพไม่สมบูรณ์(เจ็บป่วยหรือมีบาดแผล)
๔. ลักษณะที่ไม่เป็นไปตามลักษณะประจำพันธุ์ข้างต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น